โครงการครูภาษาอังกฤษเพื่อโรงเรียนไทย

ความสำคัญ ที่มา

            มูลนิธิโยนก ได้เล็งเห็นว่าภาษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเรียนรู้ และ การสื่อสารของมนุษย์ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาจวบจนปัจจุบัน ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง นอกจากภาษาประจำชาติที่มีความสำคัญ จำเป็นที่นักเรียน นักศึกษาต้องเรียนรู้ และใช้เป็นประโยชน์ ให้ได้ในโลกที่ไร้พรมแดนของการเรียนรู้ การติดต่อสื่อสาร และ การประกอบอาชีพ เป็นที่ยอมรับว่าการเรียนภาษาต่างประเทศ ที่ได้ผลต้องใช้ครูเจ้าของภาษามาช่วยสอนให้นักเรียนนักศึกษาเกิดทักษะการพูด การฟัง การอ่าน และ การเขียนที่ถูกต้องชัดเจน แม่นยำ มีความมั่นใจจึงจะเกิดผล

            ปัญหาคือโรงเรียนไทยของเรากำลัง ขาดแคลนครูภาษาอังกฤษที่เป็นเจ้าของภาษา ที่จะมาช่วยทำให้การเรียนการสอนภาษาอังกฤษบรรลุผลได้ จึงเป็นที่มาของโครงการครูภาษาอังกฤษเพื่อโรงเรียนไทย  ( Teach Thailand Corps )  เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโยนก และ มูลนิธิอเมริกัน-ไทย ( American – Thai Foundation)  สหรัฐอเมริกา ที่จะช่วยสนองความต้องการครูภาษาอังกฤษของโรงเรียนไทย โดยการสรรหาและคัดเลือกบัณฑิตที่มีคุณภาพจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกามาสอนในโรงเรียนไทย

            มูลนิธิอเมริกัน – ไทย และ มูลนิธิโยนก มีเครือข่ายมหาวิทยาลัย ในสหรัฐอเมริกาที่ร่วมมือช่วยเหลือ ในการคัดเลือกบัณฑิตที่มีคุณภาพ และ มีจิตอาสา เพื่อเข้าร่วมโครงการ ฯ มีการกลั่นกรองผู้สมัครในด้านผลการเรียน การทำงาน ประสบการณ์อาสาสมัครเพื่อสาธารณะ มีการสัมภาษณ์เพื่อประกอบการพิจารณา การคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่สุด ให้เป็นครูภาษาอังกฤษในโครงการฯ เมื่อครูภาษาอังกฤษที่ได้รับการคัดเลือกเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว จะเข้ารับการอบรมหลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมไทย และ ทำความคุ้นเคยกับสภาพการทำงานการเรียนการสอนของโรงเรียนและสิ่งแวดล้อม และทักษะต่างๆที่สำคัญจำเป็นที่จะใช้ชีวิตในประเทศไทย ได้อย่างเกิดประโยชน์ สะดวกสบาย มีสุขภาวะที่ดี และมีความปลอดภัย แล้วจึงเดินทางไปประจำโรงเรียนที่ร่วมโครงการในจังหวัดต่างๆ ปัจจุบันโครงการครูภาษาอังกฤษเพื่อโรงเรียนไทย ( Teach Thailand Corps ) ได้ดำเนินการและกำลังขยายเครือข่ายการดำเนินงานออกไปเรื่อยๆ

พันธกิจของมูลลนิธิโยนก

 พันธกิจหลักของมูลนิธิโยนกคือการก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดลำปาง ได้แก่ มหาวิทยาลัยโยนก ในปี พ.ศ.2531 ในปี พ.ศ.2555  พร้อมทั้งการสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัย   และ สนับสนุนการพัฒนาอาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัย   โดยได้มีการสนับสนุนนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย และ โรงเรียนพันธมิตรอื่น ๆ ในการเดินทางไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ยังประเทศสหรัฐอเมริกา

            นอกจากนี้มูลนิธิโยนกยังได้จัดหาอาจารย์และนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา และนำนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระยะสั้น มาทำการสอน ณ มหาวิทยาลัย และ โรงเรียนเครือข่าย พร้อมทั้งสนับสนุนการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ ระหว่างประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา

            มูลนิธิโยนกมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างนครลำปาง กับเมืองต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้มีการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษาระหว่างโรงเรียนในจังหวัดลำปาง  และโรงเรียนในประเทศสหรัฐอเมริกา มาอย่างต่อเนื่อง

            ในด้านการส่งเสริมการอ่าน มูลนิธิโยนกมีพันธกิจส่งเสริมการอ่านอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผลักดันให้จังหวัดลำปางประกาศให้การอ่านเป็นวาระสำคัญของจังหวัด และได้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านของจังหวัดขึ้นมาดำเนินยุทธศาสตร์ส่งเสริมการอ่าน โดยบูรณาการทรัพยากรทุกภาคส่วนในการส่งเสริมการอ่าน

            พันธกิจที่สำคัญที่สุดอีกด้านหนึ่งคือ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาและยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยให้ดียิ่งขึ้น ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาต่อ อาชีพการงาน และเตรียมพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวต่างประเทศอย่างเกิดผล  โดยการคัดสรรบัณฑิตที่ดี มีคุณภาพจากสหรัฐอเมริกา มาสอนในโรงเรียนไทย

ประวัติมูลนิธิโยนก

 มูลนิธิโยนกก่อตั้งขึ้นโดย  ดร.นิรันดร์ จิวะสันติการ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยโยนกในปี   2531  โดยมี  ดร.ศุภชัย  พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO)  และ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานการค้าและพัฒนาองค์กรสหประชาชาติอังค์ถัด  (UNCTAD)  ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิ

 

นวัตกรรมและผลงานที่โดดเด่นของมูลนิธิโยนก

  1. ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จทอดพระเนตรโครงการมหาวิทยาลัยโยนก และเสด็จเปิดอาคารเรียน 6 อาคาร
  2. มูลนิธิโยนกเป็นมูลนิธิที่ร่วมกับสถาบันการศึกษา มูลนิธิ ประชาชน และองค์กรภาครัฐของสหรัฐอเมริกา โดยสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่องตั้งแต่ก่อตั้งจนถึง ปัจจุบัน เป็นจำนวนเงินกว่า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ
  3. ก่อตั้งมหาวิทยาลัยโยนก ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่
  •  ได้รับพระราชทานเหรียญทองดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรม ราชูปถัมภ์  โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • เป็นสถาบันอุดมศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยแห่งแรกของจังหวัดลำปางและเปิดคณะบริหารธุรกิจแห่งแรกของจังหวัดลำปาง
  • เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนอันดับที่ 25 ของประเทศไทย  เป็นอันดับ 3 ในภาคเหนือ  และเป็นอันดับ 1 ของจังหวัดลำปางที่เปิดสอนระดับปริญญาโท
  • เป็นมหาวิทยาลัยจากต่างจังหวัดแห่งแรกของประเทศ  ที่เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาโท  บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (Yonok MBA)  ที่กรุงเทพฯ  โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น  จำกัด (มหาชน)
  • เป็นมหาวิทยาลัยที่มีอาจารย์จากต่างประเทศมาสอน ในอัตราส่วนต่อนักศึกษาสูงสุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
  • เป็นมหาวิทยาลัยที่มีอาจารย์ต่างประเทศจากมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อ  อาทิเช่น  Harvard University, Stanford University, Babson College, Wharton, Duke, Mercer University, Baylor University เป็นต้น
  • เป็นมหาวิทยาลัยที่บูรณาการวิชาชีวิต  วิชาชีพ  โดยเฉพาะการส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสคิดค้น  เรียนรู้ด้วยตนเอง  พร้อมกับสร้างสรรค์ประสบการณ์ต่างๆ เพื่อการเรียนรู้  เช่น  กิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท  การบำเพ็ญประโยชน์  การส่งเสริมการแสดงศิลปะ  ดนตรี  ศิลปวัฒนธรรม  รวมทั้งมีหลักสูตรที่ส่งเสริมให้นักศึกษาเรียนกีฬาที่หลากหลาย  เพื่อทักษะการกีฬาที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต
  • เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ได้รับเกียรติจาก Dr. Herbert H. Reynolds อธิการบดีมหาวิทยาลัยเบย์เลอร์  (Baylor University)  ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อของ Texas และสหรัฐอเมริกา  เพื่อรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์   และ มีบุคคลที่สมควรยกย่องสดุดี  ซึ่งให้เกียรติรับปริญญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์    ดังนี้    ท่านผู้หญิงสุมาลี    จาติกวนิช,    คุณพารณ   อิศรางกูล ณ อยุธยา,  คุณแม่เล็ก  พิชญกุล, คุณหญิงชัชนี  จาติกวณิช, คุณอโณทัย พรประภา, คุณ’รงษ์  วงษ์สวรรค์,   คุณธนินทร์  เจียรวนนท์,  นายบิล  เฮนเนกี้  และ ศ.ดร.ปุระชัย  เปี่ยมสมบูรณ์
  1. ได้จัดตั้งสถาบันวิจัยโยนกขึ้นในปี ค.ศ. 1988 ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยสูงสุดในจังหวัดลำปาง  อาทิเช่น
  • งานวิจัยผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (แม่เมาะ) ที่มีต่อจังหวัดลำปาง  เป็นเงินกว่า 1,000,000 บาท
  • งานวิจัยมุขปาถะ เป็นแห่งแรก  โดยทำ ชีวประวัติของ  แม่โต้ย  จิวะสันติการ  และ  รท.สวัสดี  ประหารข้าศึก
  • งานวิจัยแผนการลงทุนจังหวัดลำปาง ปี ค.ศ. 1994  เป็นเงิน 2,000,000 บาท
  • งานวิจัยอื่นๆ อีกมากมาย 
  1. ได้จัดตั้งสถาบันศิลปวัฒนธรรมโยนกขึ้น  โดยการสนับสนุนของ มูลนิธิ Jim  Thomson  โดย Henry Thomson  และแต่งตั้ง  นายศักดิ์  รัตนชัย   ศิลปินล้านนา  นักอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น  เป็นผู้อำนวยการสถาบันศิลปวัฒนธรรมโยนก
  2. มีการจัดการประชุมระดับท้องถิ่น ระดับชาติ  รวมถึงระดับนานาชาติบ่อยครั้ง  อาทิเช่น
  • การประชุมความร่วมมือไทย – สหรัฐฯ ในเชิงพัฒนาอดีต  ปัจจุบัน  และอนาคต  โดยความร่วมมือจากองค์การยูเสด  (USAID)  และหอการค้าไทย – สหรัฐฯ  (US – Thai Development Cooperation : Past, Present and Future, USAD Conference) 
  • การจัดประชุมวิกฤตน้ำมันและพลังงานของโลก (Energy Crisis) โดย Kent  ที่ปรึกษาพลังงานของประธานาธิบดี George Bush  ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและหนังสือพิมพ์  The Nation
  • การจัดการเสวนาเรื่องประเทศไทยในเวทีการค้าโลก โดย ดร.ศุภชัย  พานิชภักดิ์  และบันทึก  แพร่ภาพโดย Nations Chanel 
  • การเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันหมากล้อม (โก๊ะ) แห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน)
  • การเป็นเจ้าภาพการจัดการชำระปะวัติศาสตร์โยนก ร่วมกับ Yunan Institute of the Nationalities, สาธารณรัฐประชาชนจีน
  • และการจัดการประชุมสัมมนากว่าร้อยครั้ง ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการ  จนถึงปัจจุบัน
  1. จัดการบรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins โดย John Erikson อดีตผู้อำนวยการ USAID และที่ปรึกษาธนาคารโลก
  2. จัดการบรรยายพิเศษที่ มหาวิทยาลัย Standford เรื่ององค์การการค้าโลก โดย ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นผู้บรรยาย
  3. จัดการบรรยายพิเศษที่ World Council of Trade of San Francisco, Dallas , Houston โดย ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นผู้บรรยาย  
  4. โครงการครูภาษาอังกฤษเพื่อโรงเยนไทยที่จะช่วยบรรเทาความขาดแคลนครูภาษาอังกฤษที่ดี มีคุณภาพ โดยการคัดสรรบัณฑิตที่ดีมีคุณภาพมาสอนในประเทศไทย

 

คอนเสิร์ตสแตนฟอร์ดเชื่อมสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ เพื่อสดุดีกษัตริย์ไทย ที่ลำปาง

คอนเสิร์ตสแตนฟอร์ดเชื่อมสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ
เพื่อสดุดีกษัตริย์ไทย

มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อของประเทศสหรัฐอเมริกาและของโลก ในด้านวิชาการ งานวิจัย การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และการส่งเสริมสังคม มูลนิธิโยนกร่วมกับมูลนิธิอเมริกันไทยได้เชิญคณะนักร้องประสานเสียงและคณะกลองไทโกะของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐเมริกามาแสดงในประเทศไทยและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมขณะเดียวกันนั้นได้ถือโอกาสเป็นการส่งเสริมกิจกรรมพิเศษสำหรับวันสำคัญของประเทศไทย

 

ที่ลำปาง
จัดวันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน 2560
เวลา 18.30 – 21.00 น.
ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคาร ดร.ชุมพล พรประภา
มหาวิทยาลัยเนชั่น จังหวัดลำปาง

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
  2. เพื่อสดุดีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
  3. เพื่อฉลองความสัมพันธ์ 184 ปี ไทย – สหรัฐ
  4. เพื่อแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา
  5. เพื่อสนับสนุนโครงการครูภาษาเพื่อโรงเรียนไทย (Teach Thailand Corps)

 

 

คอนเสิร์ตสแตนฟอร์ดเชื่อมสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ เพื่อสดุดีกษัตริย์ไทย ที่ลำปาง
คอนเสิร์ตสแตนฟอร์ดเชื่อมสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ เพื่อสดุดีกษัตริย์ไทย ที่ลำปาง